หน้าเว็บ

ความหมายและประโยชน์ KM

ความหมายและความสำคัญของความรู้
       ยืน  ภู่วรวรรณ (2543) กล่าวว่า ความรู้เป็นการใช้สารสนเทศเป็นฐานในการสร้างให้เกิดการคิด และตัดสินใจ ส่วน น้ำทิพย์  วิภาวิน  (2546)  ได้ให้ความหมายว่า ความรู้ (knowledge) เป็นผลที่ได้จากการเรียนรู้ เกิดจากความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ เป็นความสามารถในการระลึกนึกออกในสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้ว ความรู้ที่แต่ละบุคคลมี คือ ความรู้รอบตัว และความรู้ในแต่ละสาขาวิชาชีพความรู้ที่องค์กรสร้างขึ้น หรือต้องการใช้ในการพัฒนาองค์กรให้ดียิ่งขึ้น คือ ความรู้ใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของคนให้เพิ่มพูนอยู่เสมอ โดยเฉพาะ-อย่างยิ่งการแสวงหาความรู้โดยการอ่าน และการคิด
Marquardt (1996) กล่าวว่า ความรู้เปรียบเสมือนอาหารของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือเป็นสารบำรุงกำลังสำหรับการเติบโตขององค์กร ในขณะที่พนักงานขององค์กรมีการเข้ามาทำงานและลาออกไป แต่องค์ความรู้ที่มีคุณค่านั้น องค์กรต้องรักษาไว้ไม่ให้สูญหาย เพราะสำคัญต่อความอยู่รอดขององค์กร โดยการได้มาซึ่งความรู้นั้นมาจาก 2 ทาง ได้แก่
1.   จากภายนอกองค์กร ความรู้จากภายนอกองค์กรนั้นสามารถมาด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน ดังนี้
              1.1   กระบวนการเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น ๆ
              1.2   การเข้าร่วมประชุม สัมมนาในเรื่องต่าง ๆ
              1.3   การจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาในองค์กร
              1.4   การศึกษาจากสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ อินเทอร์เน็ต วารสาร สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ
              1.5   การติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และแนวโน้มทางด้านเทคโน-โลยีต่าง ๆ
              1.6   การเก็บรวบรวมข้อมูลจากลูกค้า คู่แข่งขัน และแหล่งอื่น ๆ
              1.7   จากพนักงานใหม่ที่เข้ามาทำงานในองค์กร
              1.8   การร่วมมือกันระหว่างองค์กร การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และ การร่วมทุนระหว่างบริษัท
2.  จากภายในองค์กร ความสามารถในการเรียนรู้กระบวนการ หรือวิธีการทำงานของส่วนอื่น ๆ ภายในองค์กร สามารถเป็นองค์ความรู้สำคัญขององค์กรได้ โดยการได้มาซึ่งความรู้ภายในองค์กรนั้น มาจากที่ต่าง ๆ กัน ได้แก่
                2.1   ความรู้ของพนักงานภายในองค์กร
                2.2   การเรียนรู้จากประสบการณ์
                2.3   การลงมือปฏิบัติ ปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง
ส่วนความสำคัญของความรู้ Nonaka and Takeuchi (1995) ได้อธิบายถึงหลักสำคัญของการสร้างความรู้ในหน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ว่า คือ การสังเคราะห์ หรือหลอมรวมความรู้ที่ชัดแจ้ง กับความรู้ที่ฝังลึก ยกระดับขึ้นไปเป็นความรู้ที่สูงขึ้น โดยผ่านกระบวนการ 4 ส่วนที่เรียกว่า เซกิ” (SECI) ซึ่งได้แก่
1.   การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (socialization) ระหว่างกัน เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงความรู้ที่ไม่ชัดแจ้ง (tacit knowledge) ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งได้จากการสังเกต การลอกเลียนแบบ หรือการลงมือปฏิบัติ คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อคิดเห็น ความเชื่อ วิธีการ ฯลฯ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ไม่ ชัดแจ้ง ระหว่างบุคคลผู้สนใจแบบตัวต่อตัว
2.    การสกัดความรู้จากตัวคน (externalization) เป็นกระบวนการที่ความรู้ที่ไม่ชัดแจ้ง ถูกทำให้ชัดเจน โดยการเปรียบเทียบใช้ตัวอย่าง หรือตั้งสมมติฐานจนความรู้ที่ไม่ชัดแจ้ง เปลี่ยนแปลงเป็นความรู้ที่ชัดแจ้ง (explicit knowledge) คือ การแลกเปลี่ยนความรู้ฝังลึกในตัวบุคคล ไปเป็นความรู้ที่ผู้อื่นเข้าถึงได้ ซึ่งอาจทำโดยผ่านการสนทนากลุ่ม จับกลุ่มคุยเพื่อหาความคิดใหม่ ๆ เป็นการแลกเปลี่ยนเป็นกลุ่ม
3.    การผนวกความรู้ (combination) เป็นกระบวนการที่ความรู้ที่ชัดแจ้ง ถูกทำให้เป็นระบบจนกลายเป็นความรู้ คือ การนำความรู้ที่ชัดแจ้งอันมากมายหลากหลายมารวบรวมบันทึก ซึ่งจะถูกจัดเป็นหมวดหมู่ของความรู้ที่ชัดเจน ที่ยกระดับเพิ่มมากขึ้น ความรู้ในชั้นนี้จะอยู่ในรูปแบบที่เผยแพร่ได้กว้างขวาง
4.    การผนึกความรู้ในตน (internalization) เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ชัดแจ้ง เป็นความรู้ที่ไม่ชัดแจ้ง ซึ่งเป็นทักษะที่ฝังอยู่ในตัวบุคคลนั้น ๆ อีกครั้ง คือ การนำความรู้ที่ได้อ่าน หรือความรู้ที่มีคนสอนไปลองปฏิบัติให้เกิดความเชี่ยวชาญเป็น รู้จริงประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ กระบวนการ วิธีการใหม่ หรือปรับปรุงของเก่าให้เกิดคุณค่า และในกระบวนการนั้นเอง ก็เกิดการเรียนรู้เป็นความรู้ฝังลึกที่ยกระดับขึ้นไปในตัวบุคคล
องค์ประกอบที่สำคัญประการต่อมาของกระบวนการในการสร้างความรู้ขององค์กร ก็คือ การสนทนา (dialogue) เพื่อสร้างสรรค์ความรู้ ด้วยตรรกวิทยา (dialectic) หรือการโต้แย้งกันด้วยเหตุผล ด้วยการชี้แจงความเห็นของตนเอง และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งเป็นกระบวนการของการเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้ได้มาซึ่ง การยกระดับของความรู้ โดยอาจกล่าวได้ว่า ความรู้นั้นจะเป็นความรู้ที่ได้จากการวิพากษ์เพื่อสร้างสรรค์ นั่นเอง (Nonaka & Takeuchi, 1995)
องค์ประกอบสุดท้ายของกระบวนการในการสร้างความรู้ขององค์กร คือ การปฏิบัติ (practice) ซึ่งมีความสำคัญมาก เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้โดยการลงมือทำ การปฏิบัตินั้นไม่ใช่เพียงลงมือทำ แต่จะต้องคิดถึงความหมายที่แท้จริงของการกระทำและผลของการกระทำนั้น และลงมือปฏิบัติจนกลายเป็นกิจวัตร (Nonaka & Takeuchi, 1995
20150318-images

ที่มา. จาก เวทีนวัตกรรม (Innovative Forum) ครั้งที่ 3 Part II: การจัดการความรู้เครื่องมือสู่ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์, โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, 2550, ค้นเมื่อ 3 เมษายน 2552, ค้นจาก http://www.opdc.go.th/uploads/media/image /Nonaka-model1-SECI.gif
Grundstein (2000) ได้อธิบายเพิ่มเติมที่สอดคล้องกันในอีกลักษณะหนึ่งของการเปลี่ยนรูปของความรู้ (knowledge conversion) ในวงจรเกลียวความรู้ (SECI) โดยในแต่ละขั้นตอนจะต้องมีผู้นำที่ส่งเสริมการจัดการความรู้มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีโครงสร้างองค์กรที่เป็นแนวราบที่เอื้อต่อการจัดการความรู้ รวมทั้งต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่เพียงพอที่จะช่วยให้การจัดการความรู้ประสบความสำเร็จ โดยวงจรเกลียวความรู้นี้ มีลักษณะเป็นพลวัตนั่นเอง
             สรุปได้ว่า ความรู้ คือ สารสนเทศที่ผ่านกระบวนการที่มีการสังเคราะห์จากความรู้ที่ชัดแจ้ง และความรู้ที่ไม่ชัดแจ้งของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการคิด ตัดสินใจ และดำเนินการต่าง ๆ ตามลำดับขั้นของความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น